งานบริการการสอบ

งานบริการการสอบเป็นภารกิจหนึ่งในงานบริการทางวิชาการแก่สังคมของสำนักทดสอบฯ โดยการสร้างและพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐาน ประกอบไปด้วย ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Achievement) ด้านความถนัดทางการเรียน (Aptitude) และด้านจิตพิสัย/บุคลิกภาพ (Affective) ในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ/ทำงาน การแนะแนวการศึกษา/อาชีพ การวิจัยศึกษาค้นคว้า และ การคัดเลือกบุคคลเพื่อรับทุนการศึกษา เป็นต้น และด้วยศักยภาพที่มีอยู่ดังกล่าวนี้ สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา จึงได้ให้บริการการสอบแก่สถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในด้านการวัด การประเมิน และการวิจัยอันเป็น จุดมุ่งหมายโดยตรงแล้ว ยังทำให้สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยาได้ทำหน้าที่บริการวิชาการแก่สังคมอีกด้วย

Aptitude Testing

Achievement test

แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ (Achievement test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของผู้สอบที่ได้จากการเรียนรู้ โดยต้องการทราบว่าผู้สอบมีความรู้อะไรบ้างมากน้อยเท่าไรเมื่อผ่านการเรียนไปแล้ว ดังนั้นลักษณะของการสอบวัดจึงมุ่งไปที่ประสบการณ์ของความรู้ที่ได้รับจากการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบทดสอบที่ใช้ต้องสามารถวัดพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ คือ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า ได้อย่างแท้จริง

Scholastic Aptitude test

แบบทดสอบวัดความถนัดทางการเรียน (Scholastic Aptitude test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดสมรรถภาพหรือศักยภาพในการเรียนรู้ และความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของบุคคลที่มีอยู่ว่ามีพื้นฐาน ความสามารถทางสมองในด้านต่างๆมากน้อยเพียงไร ดังนั้นลักษณะของการสอบวัดจะมุ่งเน้นสภาพปัญหาที่แปลกใหม่เป็นหลักไม่ใช่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยเนื้อหาวิชาชั้นสูง แบบทดสอบวัดความถนัดนิยมใช้ในการคัดเลือกบุคคล จัดชั้นเรียนหรือการจัดแผนการเรียน เพื่อพิจารณาความสามารถพื้นฐานที่มีอยู่ในตัวบุคคลซึ่งแนวคิดที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางก็คือ สมรรถภาพพื้นฐาน 7 ด้านของเธอร์สโตน (Thurstone)

Affective test

แบบทดสอบทางจิตพิสัย (Affective test) เป็นแบบทดสอบเกี่ยวกับบุคลิกภาพ (Personality) ความสนใจ (Interest) ลักษณะนิสัย (Characteristic) และคุณธรรมจริยธรรม (Ethics)